วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

“ถังปั่นวุ้น” ไอเดียเรียกลูกค้าร้านขายน้ำ



          น้ำอ้อยสดและน้ำสมุนไพร  ถือเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ผู้คนนิยมหาซื้อดื่มกัน  ไม่แพ้เครื่องดื่มชนิดอื่นเลยก็ว่าได้  เพราะไม่ว่าเราจะไปเดินตลาดที่ไหน  ก็สามารถพบเห็นร้านขาย
น้ำอ้อยสดได้เกือบทุกที่  ตลาดบางแห่งมีร้านขายน้ำอ้อยสด  และน้ำสมุนไพรมากกว่าหนึ่งร้าน
ด้วยซ้ำไป  ขายกันชนิดที่ว่าหากเราเดินเลยร้านแรกไป  ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ซื้อ  เพราะ
เดินๆ ไปเดี๋ยวก็เจอ

เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่ภายในหมู่บ้านพฤกษา 13 คลองสาม  ปทุมธานี  ซึ่งมีร้านขาย
น้ำอ้อยสดและน้ำเพื่อสุขภาพ ให้บรรดาคนทั้งในและนอกหมู่บ้านได้ซื้อดื่มเพื่อดับกระหายคลายร้อน  แต่ความแตกต่างและโดดเด่นของร้านนี้ ก็คือ  มีถังไม้ขนาดอ้วนเตะตาแปะป้ายว่า “น้ำอ้อยปั่นวุ้น” ตั้งอยู่ข้างๆ  โต๊ะขายน้ำด้วย  เราจึงได้สอบถาม  “คุณวุฒิ” เจ้าของร้านวัย 40 ปี จนได้รับ
คำตอบว่า  มันคือถังที่ใช้สำหรับปั่นให้น้ำอ้อยกับน้ำแข็งรวมกันจนได้เป็นเนื้อวุ้น
“ถังนี่คือจุดขายของร้านผมเลย เอาไว้ปั่นน้ำกับน้ำแข็งให้เป็นวุ้น คล้ายๆ สเลอปี้ของ
เซเว่น  ไม่ใช่แค่น้ำอ้อยนะ น้ำส้ม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำสมุนไพร น้ำอะไรก็ใส่ได้หมดถ้าเราอยากให้มันเป็นวุ้น” คุณวุฒิอธิบายพร้อมเปิดให้ดูภายในถัง



ถังปั่นวุ้นขนาดเล็ก

เราถามต่อถึงที่มาที่ไปของไอเดียการใช้ถังปั่นวุ้นเป็นตัวเรียกลูกค้า  ซึ่งคุณวุฒิเล่าให้ฟังว่า  “เพราะผมอยากเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า อย่างบางทีลูกค้ามากันเป็นกลุ่ม 3 – 4 คน ตอนนั้นผมขายน้ำอ้อยธรรมดาอย่างเดียว เค้าซื้อคนเดียว ที่เหลือไม่ซื้อ ผมก็เลยลองลงทุนซื้อถังนี้มา  แล้วก็คิดชนิดน้ำเพิ่ม ก็ช่วยได้เยอะ ถูกใจลูกค้าโดยเฉพาะเด็กๆ เค้าจะชอบแบบวุ้นมาก”

เมื่อต้องใช้เงินลงทุนถึง 15,000 บาท  เพื่อซื้อถังปั่นวุ้นมาใช้  ข้อสงสัยที่ตามมาก็คือ  ร้านจะต้องขึ้นราคาค่าปั่นน้ำทั้งหลายให้เป็นวุ้นหรือไม่
        คุณวุฒิส่ายหัวปฏิเสธ แล้วพูดต่อว่า “บางที่บางร้าน เค้าอาจจะมีบวกค่าปั่นเพิ่มนะ แต่ของผมถือว่าเป็นการบริการลูกค้า เลยขายราคาเท่าเดิมไม่ขึ้น ลูกค้าซื้อขวด 10 บาท ก็เลือกได้ว่าจะเอาวุ้นไม่เอาวุ้น แล้วแต่เค้า”  
   
          ส่วนเรื่องระยะเวลาคืนทุนหรือกำไร  คุณวุฒิพูดเสริมว่า  “ถ้าขายจริงๆ เดือนเดียวก็ได้แล้ว มันขึ้นกับที่ที่เราขายด้วย อย่างถ้าเลือกที่ดีก็คืนทุนไว บางคนเลือกที่ไม่ดี ไม่ค่อยมีคนเดินก็หลายเดือนหน่อย งานขายของมันต้องใช้ความอดทน”

แน่นอนว่าการประกอบอาชีพทุกอาชีพย่อมมีอุปสรรคในการทำงาน  การเป็นพ่อค้าก็เช่นกัน  ซึ่งสำหรับคุณวุฒิแล้ว  ปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างที่พบเจอในการทำงาน จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยทันทีเมื่อเทียบกับความมุ่งมั่นและความมีใจรักในอาชีพ  
        “ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าถ้าเรามีใจรัก มีความมุมานะจริงๆ นะ เราจะไม่เบื่อ อย่างผมชอบพูดชอบคุยกับคนอื่น เวลาเห็นพ่อแม่เค้ามาซื้อน้ำให้ลูก พอเค้ากินแล้วมีความสุข เราเห็นก็สบายใจไปด้วย”  คุณวุฒิบอกถึงแนวคิดและหลักการในการทำอาชีพพ่อค้า



          นอกจากใช้ถังปั่นวุ้นเป็นอุปกรณ์ช่วยในการเรียกลูกค้าแล้ว  ตัวผู้ขายเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดว่าร้านจะอยู่หรือจะเจ๊ง  จะขายดีหรือขายไม่ได้  หากผู้ขายมีเทคนิคการพูดและสื่อสารที่ดี  ย่อมทำให้ลูกค้าสบายใจจนอาจเป็นลูกค้าประจำ  หรือแม้แต่คนผ่านไปผ่านมาที่ไม่ตั้งใจมาซื้อ  เมื่อเจอการเรียกลูกค้าที่ประทับใจ  ก็อาจเปลี่ยนใจซื้อกลับไปหลายขวดเลยก็เป็นได้  อย่างที่คุณวุฒิพูดในตอนท้ายว่า

“การขายของก็เหมือนการเข้าสังคม ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาเหมือนกัน  ต้องรู้จักพูดกับลูกค้า ให้เค้ารู้สึกเป็นกันเอง ลูกค้าบางคนเป็นเด็ก ก็ต้องรู้จักใช้เสียงและคุยเล่นกับเค้า หรือบางทีลูกค้าไม่ตั้งใจมาซื้อนะ พอเราทักทายพูดคุย เค้าก็มาซื้อ”





วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

น้ำใบย่านาง เครื่องดื่มคลายร้อนเพื่อสุขภาพ




               ย่านาง  เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง ที่คนไทยใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร รวมทั้งเป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งแหล่งกำเนิดของต้นย่านางนั้นจะขึ้นอยู่ตามแถบป่าของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นย่านางมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ส่วนใบย่านางมีสีเขียวเข้มออกเงามัน และเป็นส่วนที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุด

                   ในปัจจุบันมีผู้คนนิยมนำใบย่านางมาทำเป็นเครื่องดื่มจำนวนมาก ทั้งเพื่อจำหน่ายและดื่มเพื่อสุขภาพ    เนื่องจากใบย่านางมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ 
อย่างเช่น สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide)  แคลเซียม (Calcium)  ธาตุเหล็ก (Iron)  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น  นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารเคมีที่มีสรรพคุณเป็นยา หรือเป็นวิตามินบำรุงร่างกายอีกหลายตัว เช่น สารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids)   แทนนิน (Tannin)   ลิกแนน (Lignan)   ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)  โพลีฟีนอล (Polyphenol)  รวมทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีน 
(Beta carotene)  ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย    

ต้นย่านาง
ใบย่านาง


               เนื่องจากใบย่านางมีสรรพคุณหลากหลายอย่างที่ได้บอกไปแล้ว ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอวิธีการทำน้ำใบย่านาง เพื่อเป็นแนวทางแก่คุณผู้อ่านที่กำลังมองหาเครื่องดื่มที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่มากไปด้วยประโยชน์ และเพื่อดับกระหายคลายร้อนในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวเช่นนี้  รวมถึงยังเป็นการดื่มเพื่อเพิ่มคลอโรฟิลด์ ฟื้นฟูเซลล์ ปรับสมดุล และบำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลที่ร่างกายร้อนเกินไปได้อีกด้วยล่ะค่ะ


ก่อนอื่นเลยเราจะต้องดูปริมาณความเข้มข้นให้เหมาะสมกับลักษณะผู้ดื่ม ดังนี้ค่ะ
เด็ก       >> ใช้ใบย่านาง 1 - 5 ใบ ต่อน้ำ 1 - 3 แก้ว ( 200 - 600 ซีซี )
ผู้ใหญ่ที่รูปร่าง ผอม บางเล็ก และร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย     >> ใช้ใบย่านาง 5 - 7 ใบ ต่อน้ำ 1 - 3 แก้ว
ผู้ใหญ่ที่รูปร่าง ผอม บางเล็ก และร่างกายแข็งแรง          >> ใช้ใบย่านาง 7 - 10 ใบ ต่อน้ำ 1 - 3 แก้ว
ผู้ใหญ่ที่รูปร่างสมส่วน         >> ใช้ใบย่านาง 10 - 20 ใบ ต่อน้ำ 1 - 3 แก้ว

วัตถุดิบและอุปกรณ์        ใบย่านาง,  ครกหรือเครื่องปั่นไฟฟ้า,  น้ำเปล่า,  กระชอนหรือผ้าขาวบาง

ขั้นตอนการทำ
1. นำใบย่านางมาล้างทำความสะอาด
2. จากนั้น นำไปตำหรือปั่นในเครื่องปั่นให้ละเอียด แล้วเติมน้ำลงไป
3. ใช้กระชอนหรือผ้าขาวบางกรองเนื้อออก และเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำเพื่อดื่ม

เทคนิคพิเศษ
  หากใช้วิธีการปั่นด้วยเครื่อง ความร้อนจากเครื่องปั่นอาจจะทำลายความเย็นของใบย่านาง ทำให้คุณค่าของสารอาหารที่เราควรจะได้ลดลง การปั่นใบย่านางให้คงคุณค่าสารอาหาร คือ ไม่ควรกดปั่นครั้งเดียวจนใบย่านางแหลกละเอียด แต่ควรกดปั่นแล้วนับ 1 - 5 อย่างรวดเร็วแล้วกดหยุด จากนั้น กดปั่นแบบเดิมไปเรื่อยๆ จนใบย่านางละเอียด ซึ่งเทคนิคการปั่นนี้ทำให้โมเลกุลของสารอาหารยังคงรูปร่างเดิม



วิธีดื่ม               ควรดื่มครั้งละ 1/2 - 1 แก้ว  วันละ 2 - 3 เวลาก่อนอาหาร หรือตอนท้องว่าง และหากแช่ในตู้เย็น
ควรดื่มให้หมดภายใน  3 - 7 วัน  โดยก่อนดื่มคุณจะต้องสังเกตดูว่ามีกลิ่นเปรี้ยวหรือเปล่า ถ้าเริ่มมีกลิ่นก็แสดงว่ามันอาจจะเสียจึงไม่ควรดื่มค่ะ

                    สำหรับผู้อ่านท่านใดที่คิดอยากจะทำน้ำใบย่านางดื่มเอง แต่กลัวว่าจะขม มีกลิ่นฉุน และดื่มยาก ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะคุณสามารถผสมน้ำที่มีกลิ่นหอมอย่างน้ำใบเตย หรือน้ำหวานเฮลซ์บลูบอยลงไปก่อนดื่มได้ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เครื่องดื่มที่ทั้งหอมหวาน รสชาติถูกปาก และมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ในคราวเดียวกันแล้วล่ะค่ะ



ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.summacheeva.org/index_article_triliacora.htm
                         http://www.morkeaw.net/k-yanang.html
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.noichiangmai.com/bai-ya-nang.html
                             http://www.oknation.net/blog/Chaoying/2011/07/04/entry-1
                             http://www.vcharkarn.com/varticle/39750
                             http://www.dailynews.co.th/Content/agriculture/41205

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

โรงงานยาสูบปรับขึ้นภาษีสุรา-ยาสูบ สมทบ "กองทุนพัฒนาการกีฬา แห่งชาติ"

         



          หลังจาก พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย  2558  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้นำเงินจากการจัดเก็บภาษีสุราและยาสูบส่งเข้าสมทบ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมกีฬาประเภทต่าง ๆ โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรนำส่งเข้ากองทุนนั้น นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ กรรมการอำนวยการ ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวว่า 

           "ในวันนี้ (27 มี.ค.) โรงงานยาสูบได้ประกาศราคาขายส่งบุหรี่หน้าโรงงานผลิตใหม่ทั้งหมด
หลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้  โรงงานจึงต้องนำส่งเงินให้กองทุนปีละ  1,100 ล้านบาท โดยการปรับราคาขายส่งใหม่ครั้งนี้  ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นซองละ  1-2  บาท โดยบุหรี่ยี่ห้อดังเพิ่มขึ้น  2 บาท  ส่วนบางยี่ห้อ
ที่ออกใหม่เพื่อแข่งขันกับบุหรี่จากต่างประเทศ และเริ่มได้รับความนิยมมักจะไม่ปรับเพิ่มราคา

          ทั้งนี้  ในช่วง 1-2 วันนี้ ผู้จำหน่ายอาจยังไม่ปรับขึ้นราคา  เพราะเป็นสต็อกสินค้าที่เสียภาษีในอัตราเดิม แต่ร้านค้าปลีกบางรายอาจฉวยปรับราคาทันที เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบุหรี่สต็อกเก่าหรือใหม่  
อีกด้านหนึ่งมองว่า ราคาบุหรี่ที่แพงขึ้นอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้สูบลดน้อยลงหรือหันไปสูบบุหรี่ที่ถูกกว่าแทน ทำให้รายได้และกำไรของโรงงานอาจลดลงตามไปด้วย"

         การปรับขึ้นภาษีสุรา เบียร์และยาสูบอีก 2% จากฐานภาษีเดิมนั้น จะทำให้ราคาของสินค้าดังกล่าวขยับขึ้นตามไปด้วยแต่ไม่มากนัก เช่น บุหรี่ไทยขึ้นราคา 1-3 บาทต่อซอง ส่วนเบียร์ปรับเพิ่มขึ้นกระป๋องละ
ไม่ถึง 1 บาท ซึ่งแล้วแต่ยี่ห้อ เช่น เบียร์ไทยปรับขึ้นที่  0.47 บาท เบียร์นอกปรับขึ้น  0.60 บาท สุราขาว
ราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 0.79 บาท สุราสีของไทยจะปรับขึ้นขวดละ  2.20 - 3.26 บาท  ส่วนสุราต่างประเทศยี่ห้อดังจะปรับขึ้นถึงขวดละ  5.23 บาท และ 8.49  บาท

          ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้สอบถามถึงราคาขายปลีกพบว่า วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้ประกอบการยังไม่ปรับราคาขายปลีกขึ้น โดยสุรายังขายอยู่ที่ขวดละ 99 บาท และเบียร์ยังคงขายในราคาเดิม มีเพียงสุราต่างประเทศที่ปรับขึ้นขวดละ 10 บาท และ 20 บาท  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมีสต็อกสินค้าเดิมเหลืออยู่ และประมาณว่าอีก
 1 สัปดาห์จะเป็นสินค้าราคาใหม่ 



ที่มา : http://www.tnamcot.com/2015/03/27/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82-2/