วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

“ถังปั่นวุ้น” ไอเดียเรียกลูกค้าร้านขายน้ำ



          น้ำอ้อยสดและน้ำสมุนไพร  ถือเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ผู้คนนิยมหาซื้อดื่มกัน  ไม่แพ้เครื่องดื่มชนิดอื่นเลยก็ว่าได้  เพราะไม่ว่าเราจะไปเดินตลาดที่ไหน  ก็สามารถพบเห็นร้านขาย
น้ำอ้อยสดได้เกือบทุกที่  ตลาดบางแห่งมีร้านขายน้ำอ้อยสด  และน้ำสมุนไพรมากกว่าหนึ่งร้าน
ด้วยซ้ำไป  ขายกันชนิดที่ว่าหากเราเดินเลยร้านแรกไป  ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ซื้อ  เพราะ
เดินๆ ไปเดี๋ยวก็เจอ

เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่ภายในหมู่บ้านพฤกษา 13 คลองสาม  ปทุมธานี  ซึ่งมีร้านขาย
น้ำอ้อยสดและน้ำเพื่อสุขภาพ ให้บรรดาคนทั้งในและนอกหมู่บ้านได้ซื้อดื่มเพื่อดับกระหายคลายร้อน  แต่ความแตกต่างและโดดเด่นของร้านนี้ ก็คือ  มีถังไม้ขนาดอ้วนเตะตาแปะป้ายว่า “น้ำอ้อยปั่นวุ้น” ตั้งอยู่ข้างๆ  โต๊ะขายน้ำด้วย  เราจึงได้สอบถาม  “คุณวุฒิ” เจ้าของร้านวัย 40 ปี จนได้รับ
คำตอบว่า  มันคือถังที่ใช้สำหรับปั่นให้น้ำอ้อยกับน้ำแข็งรวมกันจนได้เป็นเนื้อวุ้น
“ถังนี่คือจุดขายของร้านผมเลย เอาไว้ปั่นน้ำกับน้ำแข็งให้เป็นวุ้น คล้ายๆ สเลอปี้ของ
เซเว่น  ไม่ใช่แค่น้ำอ้อยนะ น้ำส้ม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำสมุนไพร น้ำอะไรก็ใส่ได้หมดถ้าเราอยากให้มันเป็นวุ้น” คุณวุฒิอธิบายพร้อมเปิดให้ดูภายในถัง



ถังปั่นวุ้นขนาดเล็ก

เราถามต่อถึงที่มาที่ไปของไอเดียการใช้ถังปั่นวุ้นเป็นตัวเรียกลูกค้า  ซึ่งคุณวุฒิเล่าให้ฟังว่า  “เพราะผมอยากเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า อย่างบางทีลูกค้ามากันเป็นกลุ่ม 3 – 4 คน ตอนนั้นผมขายน้ำอ้อยธรรมดาอย่างเดียว เค้าซื้อคนเดียว ที่เหลือไม่ซื้อ ผมก็เลยลองลงทุนซื้อถังนี้มา  แล้วก็คิดชนิดน้ำเพิ่ม ก็ช่วยได้เยอะ ถูกใจลูกค้าโดยเฉพาะเด็กๆ เค้าจะชอบแบบวุ้นมาก”

เมื่อต้องใช้เงินลงทุนถึง 15,000 บาท  เพื่อซื้อถังปั่นวุ้นมาใช้  ข้อสงสัยที่ตามมาก็คือ  ร้านจะต้องขึ้นราคาค่าปั่นน้ำทั้งหลายให้เป็นวุ้นหรือไม่
        คุณวุฒิส่ายหัวปฏิเสธ แล้วพูดต่อว่า “บางที่บางร้าน เค้าอาจจะมีบวกค่าปั่นเพิ่มนะ แต่ของผมถือว่าเป็นการบริการลูกค้า เลยขายราคาเท่าเดิมไม่ขึ้น ลูกค้าซื้อขวด 10 บาท ก็เลือกได้ว่าจะเอาวุ้นไม่เอาวุ้น แล้วแต่เค้า”  
   
          ส่วนเรื่องระยะเวลาคืนทุนหรือกำไร  คุณวุฒิพูดเสริมว่า  “ถ้าขายจริงๆ เดือนเดียวก็ได้แล้ว มันขึ้นกับที่ที่เราขายด้วย อย่างถ้าเลือกที่ดีก็คืนทุนไว บางคนเลือกที่ไม่ดี ไม่ค่อยมีคนเดินก็หลายเดือนหน่อย งานขายของมันต้องใช้ความอดทน”

แน่นอนว่าการประกอบอาชีพทุกอาชีพย่อมมีอุปสรรคในการทำงาน  การเป็นพ่อค้าก็เช่นกัน  ซึ่งสำหรับคุณวุฒิแล้ว  ปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างที่พบเจอในการทำงาน จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยทันทีเมื่อเทียบกับความมุ่งมั่นและความมีใจรักในอาชีพ  
        “ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าถ้าเรามีใจรัก มีความมุมานะจริงๆ นะ เราจะไม่เบื่อ อย่างผมชอบพูดชอบคุยกับคนอื่น เวลาเห็นพ่อแม่เค้ามาซื้อน้ำให้ลูก พอเค้ากินแล้วมีความสุข เราเห็นก็สบายใจไปด้วย”  คุณวุฒิบอกถึงแนวคิดและหลักการในการทำอาชีพพ่อค้า



          นอกจากใช้ถังปั่นวุ้นเป็นอุปกรณ์ช่วยในการเรียกลูกค้าแล้ว  ตัวผู้ขายเองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดว่าร้านจะอยู่หรือจะเจ๊ง  จะขายดีหรือขายไม่ได้  หากผู้ขายมีเทคนิคการพูดและสื่อสารที่ดี  ย่อมทำให้ลูกค้าสบายใจจนอาจเป็นลูกค้าประจำ  หรือแม้แต่คนผ่านไปผ่านมาที่ไม่ตั้งใจมาซื้อ  เมื่อเจอการเรียกลูกค้าที่ประทับใจ  ก็อาจเปลี่ยนใจซื้อกลับไปหลายขวดเลยก็เป็นได้  อย่างที่คุณวุฒิพูดในตอนท้ายว่า

“การขายของก็เหมือนการเข้าสังคม ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาเหมือนกัน  ต้องรู้จักพูดกับลูกค้า ให้เค้ารู้สึกเป็นกันเอง ลูกค้าบางคนเป็นเด็ก ก็ต้องรู้จักใช้เสียงและคุยเล่นกับเค้า หรือบางทีลูกค้าไม่ตั้งใจมาซื้อนะ พอเราทักทายพูดคุย เค้าก็มาซื้อ”





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น